วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประมวลกฏหมายอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาท



ความผิดฐานหมิ่นประมาท






การหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยเจตนา  ไม่ว่าด้วยวิธการสื่อความหมายด้วยวิธีการใดก็ตาม  มีความผิดทางประมวลกฎหมายอาญา  ความผิดฐานหมิ่นประมาท  การหมิ่นประมาทจะเกิดขึ้นต้องมี "ผู้กล่าวหา  ผู้ถูกกล่าวหา  บุคคลที่สาม"  เราจึงนำกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทมาให้ศึกษา  ว่ามีมาตราใดบ้าง  บทลงโทษใดบ้าง  ดังนี้


มาตรา 326* ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 326 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535]


มาตรา 327  ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น


มาตรา 328* ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
*[มาตรา 328 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535]


มาตรา 329  ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม  ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


มาตรา 330  ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน


มาตรา 331  คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


มาตรา 332  ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดศาลอาจสั่ง
(1) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
(2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด   หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา


มาตรา 333  ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย



ความหมายที่ได้บัญญัติไว้   โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2493 ให้ความหมายไว้ว่า พูดหาเหตุ หรือ กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับ
ความเสียหาย
            ตามความหมายที่ชาวบ้านธรรมดาเข้าใจกัน ก็คือการใส่ความแก่กัน
ว่าใส่ร้ายหรือแสดงข้อความที่ไม่เป็นความจริง
            แต่ข้อเท็จจริงตามกฏหมายข้อความที่กล่าวแก่บุคคลอื่นนั้นแม้ที่กล่าว
ออกไปนั้นเป็นความจริงก็ผิดกฎหมายมีโทษได้
            การ ใส่ความในกฎหมายนั้นมิได้จำกัดแต่ว่าเอาเรื่องไม่จริง
ไปแต่งความใส่ร้ายเขาแต่มุ่งการเอาข้อความไปว่ากล่าวเขา ต้องเป็นการยืนยัน
ข้อเท็จจริงว่า เป็นข้อความแน่นอนเป็นเหตุให้ผู้อื่น เสียชื่อเสียงด้วยประการ
ต่าง ๆ   เช่น
            ดำบอกแดงว่า มีข่าวลือว่าขาว เป็นชู้กับเมียนายเขียว แม้ดำจะเชื่อว่า
ไม่จริง หรือเป็นความจริงก็ตาม ดำก็ผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว
            การหมิ่นประมาทต้องเป็นการกล่าว ใส่ความ” “ผู้อื่น
ต่อ บุคคลที่สาม”   ต้องมีบุคคลสามฝ่าย คือ
            1. ผู้กล่าว         2. ผู้อื่น         3. บุคคลที่สาม
เช่น
            ดำบอกแดงว่า แดงขโมยของเขียวไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะไม่มี
บุคคลที่สาม แต่ถ้าดำบอกเหลืองว่า แดงขโมยของเขียว ดำผิดฐานหมิ่นประมาท
แล้ว เพราะเหลืองเป็นบุคคลที่สาม
            เมื่อมีการกล่าว การใส่ความ บุคคลที่สามแล้ว ประการสุดท้ายที่จะ
เป็นผิดฐานหมิ่นประมาทได้นั้น การใส่ความต้องทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียหาย
ไม่ว่าจะเสียหายในชื่อเสียงถูกคนอื่นดูหมิ่น ถูกเกลียดชังก็ได้
สรุป ก็คือ จะเป็นผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องมีการกระทำดังนี้
         1. ใส่ความผู้อื่น
         2. ต่อบุคคลที่สาม
         3. ทำให้ผู้อื่นเสียหายในชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น